top of page
รูปภาพนักเขียนDOGBY-DOO!

มือใหม่ซื้อจักรเย็บผ้า จักรอุตสาหกรรมมือ 2 ต้องดูอะไรบ้าง ?

อัปเดตเมื่อ 13 ก.พ. 2564

เป็นมือใหม่ ไม่เคยซื้อจักอุตสาหกรรมมาก่อน

เป็นมือใหม่ ปกติเคยใช้แต่จักรไฟฟ้ากระเป๋าหิ้ว อยากเปลี่ยนมาใช้จักรอุตฯ

บทความนี้จะแนะนำ "แนวทาง" ในการเลือกซื้อจักรอุตสาหกรรม ในแบบฉบับที่แหม่มใช้เลือกซื้อจักรเป็นจักร Juki มือสอง ซึ่งขอรีวิวแนวทางการซื้อของตัวเอง แบ่งออกเป็นข้อๆ คือ 1. เป็นมือใหม่ ควรเลือกซื้อยี่ห้อไหน ?

2. ได้ยี่ห้อถูกใจแล้ว เอารุ่นไหนดี ?

3. จะซื้อจักรมือ 2 ต้องหาซื้อที่ไหนบ้าง ?

4. ข้อมูลในเน็ท กับคำแนะนำจากช่าง ควรเชื่อใคร ?

5. คำศัพท์ควรรู้ ในการเลือกซื้อจักรอุตสาหกรรม


มือใหม่ซื้อจักรอุตสาหกรรม มือสอง ต้องดูอะไรบ้าง ?


1. เป็นมือใหม่ ควรเลือกซื้อยี่ห้อไหนดี 

ยี่ห้อจักรอุตสาหกรรมในท้องตลาดบ้านเราตอนนี้ มีหลากหลายมากค่ะ แต่ที่ได้ยินชื่อกันบ่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้นยี่ห้อ JUKI ซึ่งแบรนด์นี้แข็งเเรงมากในบ้านเรา โรงงานใช้กันเยอะ และที่ตามๆ กันมาก็ Jack และ Gemsy ซึ่ง 2 แบรนด์หลังนี้เป็นจักรยี่ห้อจีน ส่วน Juki นั้นเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น 


บอกตรงๆ ว่าอันดับแรกที่แหม่มพิจารณาก็เรื่องของ Brand นี่แหละค่ะ ยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพของแบรนด์ญี่ปุ่นมากกว่า แต่เมื่อได้ทราบข้อมูลจากผู้ขายแล้ว ทัศนคติเรื่องนี้ก็เปลี่ยนไปเล็กน้อย ยอมเปิดใจให้แบรนด์จีนมากขึ้น 


เพราะทุกวันนี้ ไม่ว่าจะแบรนด์ไหน ฐานการผลิตนั้นอยู่ที่จีนเป็นส่วนมาก แม้แต่ JUKI ก็ผลิตที่จีน ถามว่าจุดนี้สั่นคลอนความเชื่อถือที่มีต่อแบรนด์ญี่ปุ่นของแหม่มได้ยังไง คำตอบคือ 


เทคโนโลยีทุกวันนี้ไปไว และจักรก็มีรุ่นใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ บ่อยไม่แพ้มือถือ เมื่อก่อนเป็นจักรถีบ ต่อมาเป็นระบบมอเตอร์คลัทช์ และปัจจุบันเป็นมอเตอร์ไดเร็ค ที่กินไฟน้อย เย็บเงียบกว่า มีข้อดีหลายๆ อย่างมากกว่า (จักรแต่ละประเภทเป็นอย่างไร อยู่ในข้อ 5 ของบทความ) 

และยิ่งจักรออกใหม่เดี่ยวนี้ ราคายิ่งถูก อย่างจักร Jack มือหนึ่งก็ราคาประมาณ 8,000-8,500 โดยเฉลี่ย การแข่งขันของแวดวงจักรอุตสาหกรรมนั้นเข้มข้นขึ้น ทุกแบรนด์พร้อมใจกันพัฒนาและขายรุ่นใหม่ๆ ออกมาในราคาเริ่มต้นที่จับต้องได้ ทำให้ Juki ที่เป็นแบรนด์ญี่ปุ่นเริ่มออกรุ่นเล็กๆ ราคาไม่แรงมาสู้กับจักรแบรนด์จีนที่ตีตลาดโหดมาก (ขนาดราคาเริ่มต้นยังขายหมื่นสองเลย ในขณะที่จักรจีนรุ่นพอๆ กันขายหลักพันปลายๆ) 



2. ได้ยี่ห้อถูกใจแล้ว เอารุ่นไหนดี ?

ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นของจักรอุตสาหกรรม มือหนึ่ง (รุ่นที่ค่อนข้างปัจจุบันหน่อย)

แบรนด์ที่แหม่มเล็งไว้ มีแค่แบรนด์เดียว รุ่นเดียว จากที่ลองเสริ์ชร้านขายจักรหลายๆ แห่ง คือ JUKI DDL 8100E ซึ่งเป็นจักรอุตสาหกรรมตัวเริ่มต้น รุ่นปัจจุบัน ยังไม่มีรุ่นใหม่มาแทนในราคาประมาณนี้ และช่างนิยมใช้กันมากๆ 


ในภาพจะเป็นแบรนด์ JUKI รุ่นที่แหม่มอยากได้ และแบรนด์ในใจรองลงมาถ้าหากว่าหา JUKI DDL 8100E มือ 2 ไม่ได้ ซึ่งใช้เวลาหา JUKI รุ่นนี้ มือ 2 กว่าครึ่งเดือนค่ะ การหาจักรรุ่นปัจจุบันนั้นหาไม่ยาก แต่หากจะหามือ 2 ต้องอาศัยโชคและจังหวะค่อนข้างมาก แหม่มเฉียดฉิวรุ่นนี้มือ 2 เค้าขาย 9,000 บาท ไปไม่กี่วันเอง เสียดายมากๆ 


จักรแต่ละแบรนด์ จะมีขั้นแต่ละขั้นของเขาอยู่ ตั้งแต่รุ่นต้นๆ อย่างใน 3 รูปนี้ ก็ค่อนข้างที่จะเหมาะกับคนที่ยังค่อนข้างใหม่ เพราะเป็นราคาเริ่มต้น และยังไม่ใช่จักรที่มีเทคโนโลยีเข้าช่วยมากมาย ซึ่งช่างเค้าก็นิยมรุ่นเหล่านี้กันมากค่ะ เน้นฝีมือล้วนๆ ตัวช่วยต่างๆ ของเทคโนโลยีจักรนี่มีส่วนช่วยให้ช่างสะดวกขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ได้ทำให้เย็บเก่งขึ้นเท่ากับชั่วโมงบินและการฝึกฝน 


ดังนั้น มือใหม่ไม่ต้องซีเรียสค่ะ รุ่นต้นๆ เหล่านี้ ก็ใช้ได้นะ ^_^ 



3. จะซื้อจักรมือ 2 ต้องหาซื้อที่ไหนบ้าง ?


ซื้อใกล้บ้าน 

ข้อดี คือ : ช่างซ่อมจักรก็จะอยู่ใกล้ไปด้วย และเป็นเรื่องปกติที่ร้านขายจักรเย็บผ้า มักจะขายอุปกรณ์เสริมต่างๆ เกี่ยวกับจักร เช่น ไฟติดจักร ตีนผีแบบต่างๆ กระสวย หลอดด้ายในราคาแพ็คส่ง ตลอดจนอุปกรณ์ช่างเย็บต่างๆ อาทิเช่น เครื่องตัดผ้า เตารีดกระปุกน้ำเกลือ ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นระดับที่ช่างเย็บมืออาชีพซื้อใช้ คนละฟีลกับ Shop ขายจักรในห้างเลยค่ะ ที่ขายของในคุณภาพทำที่บ้าน เน้นงาน Homemade  


ซึ่งเวลาที่เราจะซื้ออุปกรณ์เสริมต่างๆ ก็ไม่ต้องเดินทางไกล ไปดูที่ร้านใกล้ๆ ได้เลย และเวลาจักรมีปัญหา เรียกหาช่าง ก็อยู่ใกล้บ้าน หากช่างไม่มีคิวงานก่อนหน้าเรา เขาก็จะมา Service เราได้เร็วขึ้นอีกด้วย ทำให้ไม่เสียเวลาทำงาน 


ข้อเสีย คือ : บางร้านอาจจะมีรุ่นของจักรเย็บผ้าให้เลือกน้อย หรือไม่มีรุ่นที่เราต้องการ แต่ทั่วไปแล้ว ถ้าเราจะเอา ก็สั่งเขาไว้ได้นะคะ ทางร้านเนี่ยเขามี connection ในหมู่คนขายจักรด้วยกัน สามารถหาของมาให้เราได้ เพียงแต่เราอาจจะต้องรอของหน่อยก็เท่านั้นเอง 

 

ซื้อร้านไกลบ้าน ในเขตกทม. 

ข้อดี คือ : เราได้เลือกคุยกับหลายๆ ร้าน อาจจะเจอทั้งร้านที่ช่างแนะนำถูกใจ มีรุ่นให้เลือกเยอะ ฯลฯ ซึ่งทำให้เราสบายใจที่ซื้อมากขึ้น เพราะได้เลือก ได้คุย ได้สอบถามจากการหาข้อมูลเองล้วนๆ แล้วไง ^^ และร้านขายจักรอุตสาหกรรมส่วนมาก ใกล้ไกลก็ส่งหมดแล้ว หลายๆ ร้านส่งทั่วประเทศอีกต่างหาก (แต่อาจจะมีบริการค่าส่งเพิ่ม กี่บาทก็ว่าไป) 


ข้อเสีย คือ : ตอนมาส่งจักรที่บ้าน ถ้าบ้านเราไกลมาก ช่างอาจจะไม่ได้มาด้วย แต่แาจจะเป็นเด็กส่งของมาแทน ทำให้บางคำถามหน้างานติดตั้ง เราอาจะจะไม่ได้ถามช่างได้ทันที และหากจักรมีปัญหา อาจจะต้องนัดช่างมาซ่อมและรอนาน เพราะส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเราซื้อจักรกับร้านไหน เทคนิคการ Setup จักรของแต่ละร้านก็อาจจะมีจุดที่แตกต่างกันบ้าง หากมีการเสียเกิดขึ้น แล้วเราติดต่อช่างคนอื่นมาซ่อม ซ่อมแล้วยังใช้ไม่ได้ จนช่างที่เราซื้อจักรด้วยมาซ่อมให้ ก็อาจจะลำบากขึ้น เพราะจักรถูกดัดแปลง แก้ไข หรือซ่อมโดยช่างคนอื่นๆ มาก่อนแล้ว 


เหตุผลข้อหลังนี้ เป็นคำบอกเล่าจากพี่คนขายจักร ที่แหม่มได้พูดคุยมาค่ะ ซึ่งแหม่มก็เข้าใจได้ในส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็คิดว่าตลาดการขายจักรอุตสาหกรรมในบ้านเรานั้น มีการแข่งขันด้านบริการที่สูงมากเลยทีเดียว 


4. ข้อมูลในเน็ท กับคำแนะนำจากช่าง ควรเชื่อใคร ?


ข้อมูลที่มากมายมหาศาลในอินเตอร์เน็ท ทำให้ปัจจัยการเลือกซื้อสินค้าของคนเราถูกพิจารณามากขึ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่การที่จะให้ปักใจ ฟันธงไปเลยว่า ซื้อตามรีวิวในเน็ทสิดี กับเชื่อช่างดีกว่า ก็ยังเป็นความคลาสิคของปัญหาการตัดสินใจเลือกซื้อจักร 


ซึ่งแหม่มอยากจะแนะนำว่า ให้ดูข้อมูลทั้ง 2 ประกอบกัน แล้วให้น้ำหนักแค่ 50% พอ ส่วนอีก 50% คือควรที่จะไปลองเหยียบจักร ทดลองเย็บด้วยตัวเอง จักร 1 คันมีอายุการใช้งานหลัก 10 ปี ไม่ใช่ของที่จะพังกันง่ายๆ และเป็นของที่จำเป็นต้อการทำงานเย็บ ดังนั้น ไปเลือก ไปลองก่อนดีที่สุด 


และควรถืองาน ถือผ้าของตัวเองไปลองด้วยนะคะ อย่างงานตัดเย็บเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง ถือเป็นงานชิ้นเล็กมาก วันซื้อจักรแหม่มก็ตัดงาน (เอาผ้าที่ร้านตัด) เป็นขนาดเท่าชิ้นงานจริงที่เราเย็บ แพทเทิร์นกะๆ เอาค่ะ เพราะเน้นลองให้คล่องมือ ทดสอบให้รู้ว่าจักรรุ่นไหน ที่เหมาะสมกับงานของเรา 



5. คำศัพท์ควรรู้ ในการเลือกซื้อจักรอุตสาหกรรม


จักรคลัทช์มอเตอร์ : เป็นมอเตอร์รุ่นเก่า ที่ต้องใช้เวลาหลังการเปิดประมาณ 1-5 วินาที ถึงจะเริ่มเย็บได้ (รุ่นที่แหม่มซื้อมือ 2 มาเป็นระบบนี้ค่ะ) จะมีเสียงเย็บที่ดังนิดหน่อย แต่อยู่ในระดับที่รับได้นะคะ ไม่โครมครามมาก กินไฟกว่าจักรไดเร็ค เปิดทิ้งไว้เฉยๆ ก็กินไฟแล้ว แต่ไม่เหมาะที่จะเปิดแช่ทิ้งไว้ เพราะอาจจะทำให้มอเตอร์เสียหายได้ ก็ถือว่าใช้แล้วต้องใส่ใจกันนิดนึง 


จักรไดเร็ค : เสียงจะเงียบกว่าจักรมอเตอร์มาก เรียกว่าเงียบกริบเลย กินไฟน้อยกว่า จะกินไปเฉพาะเวลาเย็บเท่านั้น ตอนเปิดทิ้งไว้จะไม่กินไฟ และสามารถเปิดแช่ทิ้งไว้ได้ ไม่เหมือนจักรคลัทช์มอเตอร์ที่ต้องคอยปิดเวลาลุกไปไหน เช่น ลุกไปรีดผ้า เนี่ยแค่นี้จักรคลัทมอเตอร์ก็ต้องปิดแล้ว แต่จักรไดเร็คไม่ต้อง สะดวกกว่ามากๆ เลยค่ะ ถ้าใครใช้จักรคลัทช์ แล้วอยากเปลี่ยนเป็นจักรไดเร็ค ก็เสียค่าเปลี่ยนประมาณ 3,000 กว่าบาทค่ะ อันนี้เฉพาะราคามอเตอร์นะคะ ยังไม่รวมค่า Service 

จักรหัวขาว / จักรหัวเขียว : เป็นชื่อเรียกแบบง่ายๆ ของช่างค่ะ แต่บอกปุ๊บคือช่างเข้าใจปั๊บเลยนะ หัวขาวก็จะเป็นรุ่นใหม่หน่อย สีขาว แต่ถ้าหัวเขียว จะเป็นจักรรุ่นเก่าๆ ที่ตัวเครื่องสีออกเขียวๆ เท่านั้นเอง ส่วนตัวแหม่มชอบหัวขาว เลยไม่สนใจรุ่นหัวเขียวเลยค่ะ แต่หัวเขียวมือ 2 จะราคาถูกมากๆ 4,500-5,500 โดยเฉลี่ย ใครไม่ซีเรียสเรื่องสี จะดูจักรหัวเขียวมาใช้ก็ได้นะคะ ราคานี้พอๆ กับจักรบ้านเลย แต่ได้ของคุณภาพงานอุตสาหกรรมมาใช้ คนละเรื่องกันเลยค่ะ

หลักๆ ก็เน้น 3 อย่างนี้แหละค่ะ เพราะจักรอุตสาหกรรมเค้าไม่ได้มีฟังก์ชั่นมากมายเท่าจักรบ้าน 1 จักรทำได้ 1 หน้าที่ เต็มที่คือเปลี่ยนตีนผีเอา ไม่มีลายให้เลือก เย็บตรงได้อย่างเดียว 


สำหรับแหม่ม พลาดรุ่น DDL 8100E ไป แต่ก็ได้มือ 2 เป็นรุ่นที่ออกมาก่อนหน้านิดหน่อย คือ JUKI DDL 8300N ซึ่งหน้าตาคล้ายกัน ประสิทธิภาพก็พอกัน เลยยิ้มกว้างเลยค่ะ เพราะตามหารุ่นในใจไม่ได้ แต่ได้รุ่นที่ออกมาก่อนหน้า 1 รุ่น ก็ถือว่าโอเค 


ลองดูคลิปประกอบได้นะคะ คลิปนี้แหม่มเล่าประสบการณ์การหาจักรของตัวเองให้ฟัง และมี Mini Review เล็กน้อยค่ะ 



 
***หมายเหตุ บทความนี้เขียนขึ้นจากมุมมอง ความคิดเห็น และการรวบรวมข้อมูล โดยตัวผู้เขียนเอง สินค้าในรีวิวเป็นงบประมาณส่วนตัว มิได้มีการ Sponcor แอบแฝงแต่อย่างใด
ดู 5,676 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


  • Facebook
  • Instagram
  • YouTube
  • Pinterest
bottom of page