top of page
รูปภาพนักเขียนDOGBY-DOO!

คำแนะนำ มือใหม่อยากซื้อจักรเย็บผ้า นอกจากเรื่องราคา ต้องรู้อะไรอีกบ้าง

อัปเดตเมื่อ 13 ก.พ. 2564

นี่คือ Content ขนาดยาวมาก ที่จะช่วยให้มือใหม่ คิด และวางแผนก่อนซื้อจักรได้รอบคอบมากขึ้น เพื่อลดการเสียเงินโดยใช่เหตุ ปกติแล้วก่อนซื้อจักรเย็บผ้า เรามักจะหารีวิวจากผู้ใช้จริงทีละรุ่นๆ และดูว่าจักรเย็บผ้ารุ่นนั้นๆ ยี่ห้อนั้นมีอะไรที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับความต้องการของเราบ้าง


แต่สำหรับบทความนี้เราจะพาผู้อ่านไปพบกับภาพรวมของ 'จักรเย็บผ้า' แบบ Overview กันก่อน

🐶 บทความนี้จะประกอบไปด้วย
1. ทำความรู้จัก 'จักร' แต่ละประเภทก่อนซื้อ
2. ตรวจสอบ 'ความต้องการ' ของตัวเองว่าจักรที่ต้องการ ตรงกับการใช้งานมากแค่ไหน 
3. เปรียบราคาและความคุ้มค่าในการลงทุน ระหว่าง 'จักรบ้าน' กับ 'จักรอุตสาหกรรม'
4. ควรซื้อจักรเย็บ และจักรโพ้ง ทั้งสองอย่างหรือไม่
5. คำแนะนำ มือใหม่ซื้อจักรเย็บผ้าดูอะไรบ้าง (จักรเย็บผ้าไฟฟ้า) 



1. ทำความรู้จัก 'จักร' แต่ละประเภทก่อนซื้อ

หากจะถามว่า 'ซื้อจักรยี่ห้อไหนดี' คำนี้ออกจะแคบไปสักหน่อย เพราะความจริงแล้วโลกของจักรเย็บผ้านั้นไม่ใช่ว่ามีจำกัดเฉพาะแค่เรื่องของแบรนด์ แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่เราสามารถนำมาจัดประเภทได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • จักรไฟฟ้าตามห้างที่เราคุ้นเคยกันดี หรือที่เรียกกันติดปากว่า 'จักรกระเป๋าหิ้ว' หรือบางคนก็เรียก 'จักรบ้าน'

  • จักรอุตสาหกรรม เป็นจักรที่เกิดขึ้นมาเพื่องานผลิตจำนวนมากโดยเฉพาะ แถมมีอีกสารพัดแยกย่อยในตระกูลจักรอุตสาหกรรมมากมาย

  • จักรโพ้ง ช่วยเก็บริมชายผ้า เก็บขอบงานกันรุ่ยเพื่อความเรียบร้อยของงาน

  • จักรปัก ช่วยเพิ่มลวดลายและความสวยงามลงบนชิ้นงาน

  • ฯลฯ

ในเมื่อมีจักรมากมายขนาดนี้ เราจะมีข้อมูลอะไรบ้างมาคัดกรองว่าจักรชนิดไหนเหมาะกับเราที่สุด


2. ตรวจสอบ 'ความต้องการ' ของตัวเองว่าจักรที่ต้องการ ตรงกับการใช้งานมากแค่ไหน


ภาพในใจก่อนซื้อจักรของคุณเป็นอย่างไร ?

นี่คือคำถามที่เราอยากพาคุณสำรวจใจของตัวเอง ก่อนจะพาไปทำความรู้จัก 'จักรที่เหมาะสม' ว่าแท้จริงแล้ว จักรมากมายหลากหลายบนโลกใบนี้ มีจักรชนิดไหน อะไรบ้างที่เหมาะกับความต้องการของเราเองมากที่สุด


ภาพในใจของคุณคือภาพใด A หรือ B 
เลือกก่อนแล้วค่อยอ่านต่อนะคะ 😊 
ภาพ A
ภาพ B
🐶 ถ้าเลือกกันได้แล้ว มาอ่านต่อกันเลยนะคะ จะได้รู้ว่าภาพที่เราเลือกกำลังจะบอกอะไรเรา
มือใหม่ซื้อจักรเย็บผ้า
A : Newbie & Starter

ภาพ A

หากความประดิษฐ์ประดอย DIY ทำเองใช้เอง หรือทำแจกเพื่อนๆ ญาติๆ คนสนิท คือภาพที่ลอยมาให้หัว การเริ่มต้นที่คุณคิดไว้คือ เริ่มจากหัดทำเองแบบเล็กๆ น้อยๆ ก่อน ถ้าเห็นว่ามี Feedback ที่ดีค่อยขยับขยายไปทำขาย เน้นการตัดเย็บเองด้วยตัวคุณเกือบทั้งหมด จักรที่เราอยากแนะนำให้กับคุณคือ...




จักรที่ใช้ในครัวเรือน

หรือที่เรียกกันติดปากว่า จักรบ้าน จักรกระเป๋าหิ้ว ซึ่งเราแบ่ง Level ต่างๆ ของจักรชนิดนี้เอาไว้ดังนี้


Compact Sewing Machine

จักรขนาดเล็ก น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 6 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถปรับลายเย็บได้มากกว่า 4 ลายขคือ ทั้งเย็บตรง และเย็บซิกแซ็กได้ และอาจจะปรับความกว้างของฝีเย็บได้เล็กน้อย รวมถึงถักรังดุมได้อีกด้วย

ราคาของจักรคอมแพ็คนี้ จะเฉลี่ยเริ่มต้นอยู่ที่ 3,990 บาท


มือใหม่ซื้อจักรเย็บผ้า
จักร Compact ตัวเล็ก น้ำหนักเบา ราคาเริ่มต้นเฉลี่ย 3,990 บาท

ข้อดี :

  • น้ำหนักเบา สะดวกพกพา สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย

  • มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม น่ารัก เหมาะกับผู้เริ่มต้น

  • โดยปกติเย็บคอตตอนและลินินได้

  • เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้น เน้นเป็นงานฝีมือ ทำของใช้จุกจิก

ข้อเสีย :

  • เย็บผ้าที่หนามากๆ น้ำหนักหลายๆ ออนซ์ไม่ไหว

  • มีลูกเล่นเรื่องลายเย็บจำกัด

  • เสียงค่อนข้างดัง

  • ด้วยน้ำหนักที่เบามาก ทำให้จักรสั่นขณะเย็บ ความมั่นคงในการเย็บลดลง

  • ขณะเย็บมีเสียงดัง

 

Full Size Sewing Machine

เป็นจักรในครัวเรือนที่ตัวใหญ่ขึ้นมาอีกนิด และน้ำหนักมากกว่า 6 กิโลกรัม แต่ยังคงเคลื่อนย้ายไปมาได้อยู่ (แต่หนักมาก) นอกจากนั้นมีลูกเล่นเพิ่มเติมขึ้นมาอีกนิดคือ สามารถปรับความถี่ห่างของฝีเข็มได้มากขึ้น มีลวดลายเส้นเย็บมากขึ้น บางยี่ห้ออาจจะมีการสนเข็มอัตโนมัติ หรือปุ่มปรับระดับความเร็วในการเย็บเสริมเข้ามา (แต่ไม่ได้มีทุกยี่ห้อ) ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นที่ประมาณ 6-7 พันบาทขึ้นไป


รีวิวจักรเย็บผ้า
จักร Full Size ตัวจะใหญ่และหนักขึ้นมาอีกนิด ราคาเริ่มต้นเฉลี่ย 7-9 พันบาท

ข้อดี :

  • มีลวดลายเย็บมากขึ้น

  • มีฟังก์ชั่นเสริมในการปรับขนาดฝีเข็ม ความถี่ห่างต่างๆ ได้

  • มีช่องจักรกว้างกว่ารุ่น compact สามารถเย็บงานชิ้นที่ใหญ่มากกว่าได้

  • เหมาะกับระดับเริ่มต้น จนถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเย็บ

  • จักรมีน้ำหนักมากขึ้น ความมั่นคงในการเย็บก็ตามมา

ข้อเสีย :

  • เสียงค่อนข้างดัง

 


Computor Sewing Machine

กลุ่มนี้จะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมอยู่ภายใน ทั้งการปรับระดับความเร็วในการเย็บ การขึ้นลงของฝีเข็ม ใช้งานสะดวกสบายด้วยหน้าจอสัมผัส และระบบทำงานอัตโนมัติที่หลากหลาย มีลวดลายปักผ้าที่มากขึ้น บางแบรนด์อาจมากถึงหลักร้อยลาย และมีฟังก์ชั่นปักผ้าควบควมอยู่ในนั้นด้วย ราคาของจักรระบบคอมพิวเตอร์ เริ่มต้นที่ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป


จักรคอมพิวเตอร์ ราคาเริ่มต้นเฉลี่ย 2-3 หมื่นบาท ขึ้นไป

ข้อดี :

  • ฟังก์ชั่นต่างๆ ของจักรทำให้รู้สึกสนุกสนานกับการเย็บผ้าได้มากขึ้น

  • เสียงเงียบ เป็นเครื่องจักรที่ให้สัมผัสในการเย็บนุ่มลื่นมาก


ข้อเสีย :

  • ความอึด ถึก ทน มักพบได้น้อยกับจักรระบบนี้ จึงไม่เหมาะกับการเย็บงานสมบุกสมบันที่หนาและแข็งมากนัก

  • ราคาสูงมาก


 

Lock Sewing Machine

ซึ่งในพาร์ทของคนที่เลือกรูป A นี้เราจะแนะนำในส่วนของจักรโพ้งบ้านกระเป๋าหิ้ว ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของความกระทัดรัด น้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ซึ่งจักรโพ้งลักษณะนี้มีราคาสูงมาก โดยจะเริ่มต้นที่ประมาณ 10,000-15,000 บาทขึ้นไป


จักรโพ้งกระเป๋าหิ้ว ราคาเริ่มต้นประมาณ 15,000 ขึ้นไป

หน้าที่ของจักรโพ้ง ไม่ว่าจะเป็นจักรโพ้งอุตสาหกรรม หรือจักรโพ้งบ้านกระเป๋าหิ้ว คือใช้เย็บเก็บของผ้า และเย็บผ้ายืดประกบกัน ใครอยากเก็บของผ้าแบบเสื้อผ้า Ready to wear แนะนำว่ามีจักรโพ้งเอาไว้ รับรองว่าไม่ผิดหวังค่ะ


ลักษณะการเก็บริมด้วยจักรโพ้ง
 

B : Sewing Machine For Professional

ภาพ B

แน่นอนว่าคุณกำลังมองถึงเรื่องของ Function และสมรรถภาพของจักรที่เน้นไปในเรื่องของกำลังการผลิตปริมาณมาก หรือความเร็วในการขึ้นชิ้นงาน เพราะที่เรากำลังจะแนะนำในต่อไปนี้คือ 'จักรอุตสาหกรรม' ซึ่งเป็นจักรสำหรับช่างเย็บผ้ามืออาชีพที่มีความเร็วในการเย็บสูง และมีกำลังมาก สามารถเย็บได้ตั้งแต่ ผ้าหนา ผ้าบาง ลินิน คอตตอน ขนสัตว์ ผ้าไหม ฯลฯ


ซึ่งจักรอุตสาหกรรมนั้น เกิดมาเพื่อทำ 1 หน้าที่เท่านั้น เช่น เย็บตรง ก็ทำได้เพียงแค่เย็บตรงอย่างเดียว ไม่สามารถปรับเป็นซิกแซ็กได้ ด้วยความที่มันทำได้เพียงหน้าที่เดียว จักรอุตสาหกรรมจึงแตกย่อยออกมาเป็นหลากหลาย Function เพื่อรองรับการผลิตงานที่แตกต่างกันออกไป อาทิ

  • จักรเย็บตรง มีหน้าที่ในการประกอบชิ้นงานที่อาศัยการเย็บด้วยเส้นตรงเป็นหลัก เน้นการขึ้น Structure ของเสื้อผ้า

  • จักรแซ็กกระดุม ช่วยลดเวลาในการเย็บกระดุมทีละเม็ดๆ ด้วยมือ หรือจักรบ้านได้สูงมาก เพิ่มกำลังการผลิตและลดต้นทุนเวลาได้สูง

  • จักรลูกโซ่ เหมาะกับการเย็บเสื้อเชิ้ต กระโปรง กางเกง เสื้อโปโล

  • จักรลา ใช้สำหรับเย็บชายเเขนเสื้อ ผ้ายืดต่างๆ เสื้อโปโล เสื้อกีฬา

  • จักรแท็กกิ้ง สำหรับงานเย็บสายกระเป๋า สายคาดต่างๆ

  • ฯลฯ



ด้วยความที่เราบอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า จักรอุตสาหกรรมนั้นเกิดมาเพื่องานผลิตอันหนักหน่วง แน่นอนว่าราคาส่วนใหญ่จะเริ่มต้นกันที่หลักพันปลายๆ ตลอดจนราคาเกินครึ่งหมื่นก็มี นั่นเป็นสาเหตุที่งานผลิตส่วนใหญ่ เมื่อเราไปติดต่อช่างไปมักจะเริ่มต้นที่ Volume การผลิตค่อนข้างมาก ระดับ 100-1,000 ตัวขึ้นไป เพราะ 1 จักรนั้นทำได้แค่ 1 Process แต่ในเสื้อผ้า 1 ตัวจะต้องผ่านการเย็บหลาย Process มากๆ ไล่มาตั้งแต่การเข้าคอ เข้าแขน เก็บชาย แซ็กกระดุม เย็บกระดุม

ยิ่งหาก Factory นั้นยิ่งครบวงจรมากเท่าไร ยิ่งแสดงถึงการลงทุนเม็ดเงินใน Garment นั้นๆ มากเท่านั้น เราจึงเห็นได้อยู่บ่อยๆ ว่าการประกอบอะไหล่งานอาจจะต้องผ่านหลายๆ ที่กว่าจะจบออกมาเป็นเสื้อผ้า 1 แบบ เพราะบางที่ไม่ได้ลงทุนจักรครบทุกชนิดที่อุตสาหกรรมมี จึงต้องมีการส่งต่องานไปอีกทอด

ทีนี้ขอตัดภาพมาที่การซื้อหาจักรอุตสาหกรรมสำหรับใช้เองในครัวเรือน

หากคุณอยากเริ่มต้นที่จักรประเภทนี้ อันที่จริงแล้วมือใหม่ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ตอนฝึกอาจจะเหมือนข้ามขั้นจากรถยนต์ปกติทั่วไป ไปซิ่ง F1 เลยก็เท่านั้นเอง แต่เมื่อเริ่มใช้จักรบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ก็จะปรับตัวเข้ากับความเร็วจักรนั้นได้เอง


 

3. เปรียบราคาและความคุ้มค่าในการลงทุน ระหว่าง 'จักรบ้าน' กับ 'จักรอุตสาหกรรม'



ราคาเริ่มต้นของจักรอุตสาหกรรมเย็บตรง นั้นจะอยู่ที่ราวๆ 7-9 พันบาท ซึ่งมีราคาพอๆ กับจักรบ้านแบบ Full Size Sewing Machine แต่ทั้งสองอย่างมีข้อแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ 'ความเร็ว' และ 'กำลังผลิต' ในการเย็บ หากคุณผู้อ่านเน้นจะต่อยอดไปตัดเย็บขาย ถ้าในตอนนี้ยังไม่มีพื้นฐานการเย็บใดๆ เลย เราก็อยากสนับสนุนให้เริ่มต้นฝึกกับจักรเย็บอุตสาหกรรมไปเลย เพราะลงทุนทีเดียวคุ้มค่ากว่า


แต่ทั้งทีนี้ด้วยความที่จักรอุตสาหกรรมนั้นมาในรูปแบบตัวจักรติดกับโต๊ะ การเคลื่อนย้ายจึงลำบาก ใครที่อยู่ในคอนโด พื้นที่จำกัดเราก็ไม่ค่อยอยากแนะนำ เพราะหากเน้นความสะดวกในการเคลื่อนย้าย หรืองบลงทุนจักรยังไม่มานัก จักรบ้านแบบกระเป๋าหิ้วจะเหมาะกว่า


 

4. ควรซื้อจักรเย็บ และจักรโพ้ง ทั้งสองอย่างหรือไม่

จริงๆ แล้วผู้เขียนไม่อยาก Fix เป็นคำตอบตายตัวให้ค่ะ เพราะการมีจักรทั้งสองชนิด ไม่ว่าจักรบ้านหรืออุตสาหกรรมนั้นก็สะดวก เพราะช่วยลดทอนเวลาในการเย็บได้มาก และได้ตะเข็บของชิ้นงานต่างๆ แบบเดียวกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปในท้องตลาด หรือว่า Ready to ware


ซึ่งแน่นอนว่า หากมีจักรทั้งเย็บตรงและโพ้งพร้อมกันนั้น จะต้องมีเงินอย่างต่ำๆ ประมาณ 20,000-25,000 บาทขึ้นไปเลยทีเดียว จัดว่าค่อนข้างสูง


😊 ในกรณีนี้ผู้เขียนจะขอแนะนำ 'ทางเลือกอื่นๆ' ให้แก่ผู้อ่านที่งบไม่สูงมาก แต่ยังคงอยากได้การ Finishing งานที่เรียบร้อยมาฝากกันดังนี้ค่ะ

4.1 จักรโพ้งอุตสาหกรรมมือสอง

ในแวดวงคนเล่นจักรไฟฟ้ากระเป๋าหิ้วนั้น อาจจะพบเจอจักรมือสองตามกลุ่มได้น้อย แต่ถ้าหากเป็นแวดวงของจักรอุตสาหกรรมนั้น การปล่อยจักรมือสองเป็นสิ่งที่เราพบเจอได้ตลอดเวลา ส่วนใหญ่มักเป็นการโละจักรมาจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือมีบ้างที่ช่างเย็บปล่อยจักรเอง


จักรโพ้งอุตสาหกรรมมือสองนั้น ราคาอาจขึ้นอยู่กับรุ่น และแบรนด์ของจักร ผู้เขียนไม่อยากฟันธงราคาแบบเป๊ะๆ ให้เสียทีเดียว (ราคา 4-5 พันบาทก็มีนะ) แต่บอกได้ว่า Follow ร้านขายจักรอุตสาหกรรมใกล้บ้านเอาไว้ หมั่นไปสอบถามหรือไปบอกเขาไว้เลยว่า ถ้ามีของมาเมื่อไรให้แจ้งทันทีพร้อมกับบอกงบ เราจะได้จักรโพ้งมือสองในราคาที่เรากำหนดได้ค่ะ อาจจะต้องรอหน่อย แต่ถือว่าเป็นการรอที่คุ้มค่า


4.2 จักรโพ้งตราม้าบิน

ราคากลมๆ ราว 3-4 พันบาท จักรโพ้งยี่ห้อนี้เป็นจักรที่คุ้นหูกันดีในหมู่ช่างเย็บ มีราคาถูก เป็นจักรโพ้ง 3 เส้น ซึ่งเป็นจักรเข็มเดียว แม้ในปัจจุบันความนิยมของจักรโพ้ง 4 และ 5 เส้นจะมาแรงแซงแบบ 3 เส้นไปแล้วก็ตาม แต่สำหรับผู้เริ่มต้น ลงทุนประมาณนี้แล้วค่อยขยับขยายก็ถือว่าไม่แย่มากนัก


4.3 จ้างช่างโพ้งงานให้

ในกรณีที่เราตัดเย็บเอง แต่ไม่มีจักรโพ้ง วิธีนี้ถือเป็นการ Hack ที่น่าสนใจไม่น้อยค่ะ ราคาขึ้นอยู่กับตกลง (ผู้เขียนเคยจ้างที่ราคาชิ้นละ 2-5 บาทก็มี) ก่อนเข้างานประกอบอะไหล่ ให้เราตัดชิ้นงานและเเยกชิ้นที่จะต้องโพ้งออกมา ไปส่งให้ช่างโพ้งให้ แป๊บเดียวทันใจมากค่ะวิธีนี้


4.5 ทดแทนด้วย Seam อื่นๆ ที่ไม่ต้องโพ้ง

ไม่ว่าจะเป็น

  • French Seam หรือที่คนไทยเรียกกันว่า 'ตะเข็บเข้าถ้ำ'

  • Hongkong Seam หรือการกุ๊นริมชิ้นงาน

  • Bold Seam หรือตะเข็บล้มที่เรามักพบได้บ่อยๆ ในเสื้อเชิ้ต หรือกางเกงยีนส์

  • Bound Seam การเก็บงานด้วยผ้ากุ๊น

  • ฯลฯ


5. คำแนะนำ มือใหม่ซื้อจักรเย็บผ้าดูอะไรบ้าง (จักรเย็บผ้าไฟฟ้า)


😉 เราแนะนำคุณแล้ว คราวนี้ทีคุณบ้าง 
หากใครที่ทั้งอ่านบทความนี้ และดูคลิปจากเราแล้วยังไม่แน่ใจว่าตัวเองควรซื้อจักรเย็บผ้าแบบไหนดี คุณสามารถทัก inbox มาคุยกับเราที่หน้าเว็บไซต์ หรือเพจได้เลยนะคะ  

 
***หมายเหตุ บทความนี้เขียนขึ้นจากมุมมอง ความคิดเห็น และการรวบรวมข้อมูล โดยตัวผู้เขียนเอง สินค้าในรีวิวเป็นงบประมาณส่วนตัว ยกเว้นจักรเย็บผ้า Janome ที่ได้รับการสปอนเซอร์จากทางแบรนด์
ดู 5,265 ครั้ง0 ความคิดเห็น

コメント


  • Facebook
  • Instagram
  • YouTube
  • Pinterest
bottom of page